ปริมาณการซื้อขาย VOLUME (VOL)

VOLUME คือ ปริมาณการซื้อขายของหุ้น โดยความสัมพันธ์ระหว่างราคากับปริมาณการซื้อขาย มีข้อสังเกตดังนี้ : ความสัมพันธ์ในแง่บวก 1. เมื่อราค...

วันพุธที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2560

ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ร่วมทาง / แยกทาง MOVING AVERAGES CONVERGENCE/ DIVERGENCE




เครื่องมือที่ใช้สำหรับการวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค ในปัจจุบันนั้นมีอยู่มากมายหลายวิธี แต่ละวิธีจะให้สัญญาณซื้อขายที่ถูกต้อง ชัดเจน ในสภาพตลาดที่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เครื่องมือที่เหมาะสำหรับดูวงจรหุ้นในระยะสั้น - ปานกลาง (4-6 อาทิตย์) ที่ราคาหุ้นมีการเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงกว้าง ๆ คือ ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ร่วมทาง - แยกทาง (MACD)

MACD เป็นเครื่องมือวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิคที่สร้างขึ้น และพัฒนาโดย GERALD APPEL ในปี ค.ศ.1979 ซึ่งเป็นเครื่องมือที่เคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกับราคา (TREND FOLLOWING) สามารถใช้วัดระดับ (DEGREE) ตลาดว่าเป็นตลาด BULL หรือตลาด BEAR

วิธีการคำนวณ

เส้น MACD สร้างขึ้นโดยใช้ความต่างระหว่างเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 2 เส้น โดยที่เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่เส้นหนึ่ง ใช้ระยะเวลาในการคำนวณยาวกว่าเส้นค่าเฉลี่ยฯ อีกเส้นหนึ่ง และเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 2 เส้นนี้ นิยมใช้เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่แบบ EXPONENTIAL ส่วนจำนวนวันที่นำมาหาค่าเฉลี่ย ก็อาจเปลี่ยนแปลงได้ แต่ที่นิยมใช้กันทั่วไปคือ 12 วัน และ 25 (หรือ 26 วัน) มีข้อสังเกตว่า เส้นค่าเฉลี่ยระยะยาวนี้ จะมีระยะเวลายาวนาน กว่าเส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้นประมาณ 1 เท่า

การให้สัญญาณซื้อขายที่นิยมวิธีหนึ่งของ MACD คือ การใช้สัญญาณ (SIGNAL LINE) ตัดกับเส้น MACD

MACD = EMA (12 DAYS) - EMA (25 DAYS)
SIGNAL LINE = EMA 9 DAYS OF MACD
EMA = EXPONENTIAL MOVING AVERAGE

เส้น MACD และเส้นสัญญาณ (SIGNAL LINE) จะเหวี่ยงตัวอยู่บนกราฟที่มี SCALE 0 เป็นค่าแกนกลาง

หลักการวิเคราะห์

1. ถ้า MACD มีค่าเป็นบวก แสดงว่าราคาหุ้นอยู่ในแนวโน้มขึ้นระยะกลาง
2. ถ้า MACD มีค่าเป็นลบ แสดงว่าราคาหุ้นอยู่ในแนวโน้มลงระยะกลาง
3. ถ้า MACD มีค่าเป็นบวก และตัดเส้นสัญญาณ (SIGNAL LINE) ขึ้นไป แสดงว่าราคาหุ้นมีแนวโน้มสูงขึ้น เป็นสัญญาณซื้อ (BUY SIGNAL)
4. ถ้า MACD มีค่าเป็นลบ และตัดเส้นสัญญาณ (SIGNAL LINE) ลงมา แสดงว่าราคาหุ้นมีแนวโน้มลดลง เป็นสัญญาณขาย (SELL SIGNAL)
5. ถ้า MACD มีค่าเป็นบวก แต่ตัดเส้นสัญญาณ (SIGNAL LINE) ลงมา แสดงว่าราคาหุ้นกำลังมีแนวโน้มชะลอการลงหรือปรับตัวขึ้นช่วงสั้น
6. ถ้า MACD มีค่าเป็นลบ แต่ตัดเส้นสัญญาณ (SIGNAL LINE) ขึ้นไป แสดงว่าราคาหุ้นกำลังมีแนวโน้มชะลอการลงหรือปรับตัวขึ้นช่วงสั้น
7. ถ้า MACD มีค่าเป็นบวก และอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับยอดเก่า แสดงว่าราคาหุ้นมีโอกาสที่จะทรงตัวหรือปรับตัวลดลง
8. ถ้า MACD มีค่าเป็นลบ และอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับฐานเก่า แสดงว่าราคาหุ้นมีโอกาสที่จะทรงตัวหรือปรับตัวสูงขึ้น
9. ถ้า MACD และเส้นสัญญาณ (SIGNAL LINE) มีค่าเป็นบวก แสดงว่าตลาดเป็นตลาด BULL
10. ถ้า MACD และเส้นสัญญาณ (SIGNAL LINE) มีค่าเป็นลบ แสดงว่าตลาดเป็นตลาด BEAR

ข้อสังเกต

เครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคแบบ MACD นี้ อาจมีข้อจำกัดสำหรับตลาดหุ้นไทย ในความเป็นจริง คือ MACD มักจะให้สัญญาณซื้อขายค่อนข้างช้า ดังนั้น จึงควรนำเอาเครื่องมืออื่น ๆ ที่ใช้สำหรับดูวงจรหุ้นในระยะสั้นมาประกอบพิจารณาในการซื้อขายด้วย เช่น STOCHASTIC และ MOMENTUM เป็นต้น

การใช้เครื่องมือ MACD เพียงอย่างเดียว มักจะทำให้ผู้ลงทุนไม่ได้กำไรสูงสุด ดังนั้น จึงควรนำหลักการของ DIVERGENCE มาประกอบการตัดสินใจ

การแยกตัวออกจากกันของ MACD กับดัชนีราคา (DIVERGENCE)

DIVERENCE คือ การแยกตัวออกจากกันของ MACD กับราคาหุ้นมี 2 ลักษณะคือ

1. NEGATIVE DIVERGENCE จะเกิดขึ้นเมื่อ MACD มีการปรับตัวลงสวนทางกับการสูงขึ้นของดัชนีราคา เป็นการเตือนว่าราคาหุ้นอาจมีการปรับตัวลง

2. POSITIVE DIVERGENCE จะเกิดขึ้นเมื่อ MACD มีการปรับตัวสูงขึ้นสวนทางกับการลดลงของดัชนีราคา เป็นการบอกว่าการลดลงของราคาหุ้นใกล้สิ้นสุด

เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนสูงสุด ผู้ลงทุนควรจะรอจนกว่าจะเห็นรูปแบบ NEGATIVE หรือ POSITIVE DIVERGENCE เสียก่อน และควรใช้เครื่องมือการวิเคราะห์ทางเทคนิคอื่น ๆ มาประกอบด้วย MACD OSCILLATOR (MACDO)

MACD OSCILLATOR (MACDO)

MACD OSCILLATOR คือ การเปลี่ยนเส้น MACD และเส้นสัญญาณ (SIGNAL LINE) ให้เป็นเส้นดัชนีเส้นเดียวที่เคลื่อนไหวอยู่รอบเส้นศูนย์

วิธีการคำนวณ

MACD OSCILLATOR = MACD - SIGNAL LINE

หลักการวิเคราะห์

คือ ถ้า MACD OSCILLATOR ตัดเส้นศูนย์ขึ้นเป็นสัญญาณซื้อ และตัดเส้นศูนย์ลงเป็นสัญญาณขาย

MACD OSCILLATOR ให้สัญญาณเหมือนกับ MACD ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่าชอบแบบใด

MOVING AVERAGE OSCILLATOR (MAO)

M/A OSCILLATOR เป็นเครื่องมือที่แสดงความแตกต่างระหว่างเส้นราคาเฉลี่ย 2 เส้น ว่าระดับราคาเฉลี่ยเส้นหนึ่งเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำลงจากราคาเฉลี่ยอีกเส้นหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ มากน้อยเพียงไร จำนวนวันที่นำมาคำนวณหาราคาเฉลี่ยทั้ง 2 เส้นนี้ไม่กำหนดแน่นอน สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความต้องการของผู้ใช้

วิธีการคำนวณ

M/A OSCILLATOR = ราคาเฉลี่ย 1 - ราคาเฉลี่ย 2
= MA1 - MA2

MA1 = ราคาเฉลี่ยฯกี่วันก็ได้ ซึ่งอาจจะเป็นราคาปิดของแต่ละวัน
MA2 = ราคาเฉลี่ยฯที่มีจำนวนวันมากกว่า MA1 จำนวนวันที่นำมาหา
ราคาเฉลี่ยมีทั้งในระยะสั้นและกลาง โดยในระยะสั้นจะใช้ค่าเฉลี่ยประมาณ 5 ถึง 10 ส่วนในระยะกลางจะใช้ค่าเฉลี่ยในระยะ 25 ถึง 75 วัน

หลักการวิเคราะห์

1. ในระยะปานกลาง เส้นศูนย์จะเป็นแนวรับในแนวโน้มขึ้น และเป็นแนวต้านในแนวโน้มลง แสดงถึงการเปลี่ยนแนวโน้ม (TREND) ของราคาหุ้น คือ

ถ้า MAO เป็นบวกและอยู่เหนือเส้นศูนย์ แสดงว่าราคาอยู่ในแนวโน้มขึ้น
ถ้า MAO เป็นลบและอยู่ต่ำกว่าเส้นศูนย์ แสดงว่าราคาอยู่ในแนวโน้มลง

2. ในระยะสั้น

ในแนวโน้มขึ้น ถ้า MAO มีค่าเป็นบวกและอยู่สูงในระดับใกล้เคียงยอดเก่า แสดงว่าตลาดอยู่ในภาวะซื้อมากเกินไป (OVERBOUGHT) ราคาอยู่ในระดับค่อนข้างสูง จึงอาจมีการทรงตัวหรือปรับตัวลง เป็นสัญญาณให้ขาย
ในแนวโน้มลง ถ้า MAO มีค่าเป็นลบและอยู่ต่ำในระดับใกล้เคียงมาตรฐาน แสดงว่าตลาดอยู่ในภาวะขายมากเกินไป (OVERSOLD) ราคาอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ จึงอาจมีการทรงตัวหรือปรับตัวสูงขึ้น เป็นสัญญาณให้ซื้อ

เส้นหุ้นบวก / ลบสะสม
ADVANCE / DECLINE LINE (A/D LINE)

ความหมายและการคำนวณ

A/D LINE เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคอีกชนิดหนึ่ง ใช้มองแนวโน้มระยะกลางและระยะยาว ของทิศทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มหุ้น ซึ่งหาได้จากผลต่างสะสมของจำนวนหุ้นบวก (หุ้นที่ราคาปิดสูงขึ้นจากวันก่อนหน้า) กับจำนวนหุ้นลบ (หุ้นที่ราคาปิดต่ำลงจากวันก่อนหน้า) โดยใช้สูตรการคำนวณดังนี้
A/D = (A-D) + A/D ของวันก่อนหน้า

A = จำนวนหุ้นที่มีราคาปิดเปลี่ยนแปลงเป็นบวก
D = จำนวนหุ้นที่มีราคาปิดเปลี่ยนแปลงเป็นลบ
หมายเหตุ A/D LINE จะไม่นำ VOLUME ในการซื่อขายเข้ามาคำนวณด้วยเลย

ความสัมพันธ์ระหว่าง A/D LINE กับดัชนีตลาดฯ

ความสัมพันธ์มีด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ

1. CONVERGENCE หมายถึงการที่ A/D LINE กับดัชนีตลาดฯ เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเป็นการสนับสนุนว่า ดัชนีตลาดฯ จะเคลื่อนไหวไปในทิศทางนั้นต่อไป

BEARISH CONVERGENCE ถ้าดัชนีตลาดฯ มีจุดต่ำสุดใหม่ที่ต่ำกว่าจุดต่ำสุดเดิม และ A/D LINE ก็มีจุดต่ำสุดใหม่ที่ต่ำกว่าจุดต่ำสุดเดิมเช่นกัน เป็นการบอกแนวโน้มว่าดัชนีตลาดฯ จะลดลงต่อไปอีก

BULLISH CONVERGENCE ในทิศทางตรงกันข้ามถ้าดัชนีตลาดฯ มีจุดสูงสุดใหม่ที่สูงกว่าจุดสูงสุดเดิม และ A/D LINE ก็มีจุดสูงสุดใหม่ที่สูงกว่าจุดสูงสุดเดิมเช่นกัน จะบอกถึงแนวโน้มดัชนีตลาดฯ ว่าจะขึ้นไปต่อ

2. DIVERGENCE หมายถึงการที่ A/D LINE กับดัชนีตลาดฯ เคลื่อนไหวในทิศทางตรงข้ามกัน ซึ่งแยกเป็น 2 ลักษณะคือ

BEARISH DIVERGENCE คือ การแยกตัวออกจากกันของ A/D LINE กับดัชนีตลาดฯ โดยที่ดัชนีตลาดยังคงเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกับตัว A/D LINE กลับต่ำลงเรื่อย ๆ

ลักษณะเช่นนี้เป็นสัญญาณเตือนให้ผู้ลงทุนระวังว่า ตัวดัชนีตลาดฯ อาจมีแนวโน้มที่จะตดลงมาซึ่งสัญญาณเตือนนั้นอาจใช้ระยะเวลาเป็นเดือน หรือหลายเดือนกว่าที่ดัชนีตลาดฯ จะตกลงมาจริง แต่ยิ่ง A/D LINE และดัชนีตลาดฯ แยกตัวออกจากกันนานเท่าไหร่ ดัชนีตลาดฯ ยิ่งมีโอกาสจะตกลงมามากเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อเกิดสัญญาณเตือนในลักษณะนี้ขึ้นมา ผู้ลงทุนจึงยังไม่จำเป็นที่จะต้องออกจากตลาดทันที แต่ขอแนะนำให้ผู้ลงทุนปฏิบัติตนดังต่อไปนี้

ลดขนาดของการลงทุน
การลงทุนควรที่จะเป็นการลงทุนระยะสั้น (เข้าไวออกไว)
เลือกลงทุนในหุ้นที่นิยมเล่นกันในขณะนั้น

BULLISH DIVERGENCE คือ การแยกตัวออกจากกันของ A/D LINE กับดัชนีตลาดฯ ในลักษณะที่ดัชนีตลาดฯ อยู่ในช่วงลดลง ขณะที่ A/D LINE กลับเริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มสูงขึ้น

ลักษณะเช่นนี้เป็นการบอกเราว่า ดัชนีตลาดฯ มีแนวโน้มที่จะดีดตัวกลับ เนื่องจากหุ้นส่วนใหญ่เริ่มที่จะมีราคาเพิ่มขึ้นแล้ว

การประยุกต์ใช้ A/D LINE โดยการนำเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (MOVING AVERAGE) มาใช้ประกอบการวิเคราะห์

เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ของ A/D LINE สามารถใช้บอกแนวรับ (SUPPORT) และแนวต้าน (RESISTANCE) ได้เช่นเดียวกับเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ของดัชนีตลาดฯ และในบางครั้ง จะให้สัญญาณเตือนที่เร็วกว่าด้วย

เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ ที่จะใช้ขึ้นอยู่กับนักวิเคราะห์แต่ละท่าน แต่ที่นิยมใช้ในตลาดหุ้นไทย คือ เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 10 วัน 25 วัน 75 วัน และ 200 วัน ของ A/D LINE ซึ่งมีลักษณะเหมือนเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ของดัชนีตลาดฯ

เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ดังกล่าวข้างต้นนี้เอง ที่ถือเป็นแนวรับและแนวต้านสำหรับเส้น A/D LINE โดยกรณีที่เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่เส้นใดเส้นหนึ่งอยู่เหนือ A/D LINE ณ ระดับนั้นถือเป็นแนวต้าน และถ้าเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่เส้นใดอยู่ใต้ A/D LINE ณ ระดับนั้นก็ถือเป็นแนวรับ

ส่วนกรณีสัญญาณที่เกิดขึ้นแบ่งเป็น สัญญาณในทางบวก (POSITIVE) โดยเกิดเมื่อ A/D LINE เคลื่อนที่ตัดเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่เส้นใดเส้นหนึ่งขึ้นไป และสัญญาณในทางลบ (NEGATIVE) ที่เกิดจาก A/D LINE เคลื่อนที่ตัดเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่เส้นใดเส้นหนึ่งลงมา

หมายเหตุ สัญญาณบวกหรือลบที่เกิดมาจาก A/D LINE นี้จะมีน้ำหนักน้อยกว่าสัญญาณซื้อและขายของดัชนีตลาดฯ และสัญญาณเหล่านี้เมื่อเกิดจะถือเป็นตัวสนับสนุนการขึ้นหรือลงของดัชนีฯ (กรณี A/D LINE มีทิศทางเดียวกับดัชนีฯ) หรือถ่วงการขึ้นหรือลงของดัชนีฯ (กรณี A/D LINE มีทิศทางตรงกันข้ามกับดัชนีฯ)



Indicators ที่ได้รับความนิยม